แชร์

คดีแชร์ #ทนายคดีแชร์ThanuLaw

พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534

มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

   (1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง

   (2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน

   (3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (300,000 บาท ตามกฎกระทรวงการคลัง)

   (4) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

   เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย

มาตรา 7 บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์

มาตรา 9 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์

มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

 

ถาม - ตอบ คดีแชร์

ถาม แชร์ คืออะไร

ตอบ แชร์ คือ การลงหุ้นเป็นจำนวนเงิน ตามวาระที่กำหนด แล้วประมูลว่าจะให้ดอกเบี้ยเท่าไร ผู้ลงหุ้นที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุดจะได้รับเงินเดือนก่อน เวียนไปจนครบจำนวนผู้เล่น

โดยการเล่นแชร์ คือ การที่บุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนจะส่งเงิน รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไป โดยการประมูลหรือจับฉลาก หากสมาชิกคนใดเสนอให้ดอกเบี้ยสูงสุดในงวดนั้น ก็มีสิทธิได้รับเงินกองกลางในงวดนั้นไป

การประมูล / เปีย หมายถึง การใช้ราคาสูงสุดในการแข่งขันราคา

 

ถาม วงแชร์ ประกอบด้วยใครบ้าง

ตอบ นายวงแชร์ / ผู้จัดการวงแชร์ / เท้าแชร์ หมายถึง บุคคลผู้จัดรวบรวมเงินแชร์ อีกทั้งมักจะเป็นผู้คิดริเริ่ม ผู้ก่อตั้งวงแชร์

ลูกวงแชร์ หมายถึง บุคคลผู้เป็นสมาชิกวงแชร์ มีหน้าที่ส่งชำระเงินแชร์ และมีสิทธิใชการประมูลเพียงครั้งเดียวต่อหุ้น

 

ถาม การฟ้องคดีท้าวแชร์ มีกี่รูปแบบ

ตอบ จะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ คดีอาญาข้อหาฉ้อโกง ป.อ. ม. 341 , 343 กับ คดีแพ่งข้อหาผิดสัญญา (คดีผู้บริโภค)

 

ถาม สามารถฟ้องคดีได้เอง มีเขตอำนาจศาลอย่างไร

ตอบ เขตอำนาจศาลคดีอาญา ได้แก่ สถานที่ความผิดเกิด (สถานที่โอนเงิน) กับภูมิลำเนาจำเลย โดยตามข้อหาฉ้อโกงธรรมดา อยู่ในเขตอำนาจศาลแขวง

ส่วนเขตอำนาจศาลคดีแพ่ง : ภูมิลำเนาจำเลย กับสถานที่มูลคดีเกิด โดยหากยอดเงินไม่เกิน 300,000 บาท อยู่ในเขตอำนาจศาลแขวง เกิน 300,000 บาท อยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัด

 

สรุปประเด็นคดีอาญา ข้อหาโกงแชร์

1. การฟ้องคดีอาญาแชร์ในข้อหาฉ้อโกง มีทั้งฉ้อโกง และฉ้อโกงประชาชน

2. อายุความ 3 เดือนนับแต่วันรู้เรื่อง

3. คดีฉ้อโกง เป็นความผิดอาญาต่อส่วนตัว หรือที่เรียกว่าความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 96 ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

   : ฉะนั้น ผู้เสียหายจึงต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หรือฟ้องคดีเอง ภายใน 3 เดือนนับแต่วันรู้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำความผิด

 

ค่าขึ้นศาล

คดีอาญา : ไม่มี

คดีแพ่ง : ลูกแชร์ ไม่มีค่าขึ้นศาล (เพราะเป็นผู้บริโภค) / ส่วนท้าวแชร์ (ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ) เสีย 2% ของทุนทรัพย์ หากไม่เกิน 300,000 บาท เสีย 1,000 บาท

 

เอกสารประกอบการยื่นฟ้อง

1. หลักฐานการโอนเงิน สลิปโอนเงิน - Statement เดินบัญชี

2. หลักฐานข้อมูลการเล่นวงแชร์ (บ้านแชร์)

3. Facebook / LINE ท้าวแชร์ พร้อมคำเชิญชวนและเงื่อนไข

4. บัญชีรายการเงินส่งแชร์ และดอกแชร์ที่ได้รับจากวงแชร์

5. ข้อมูลท้าวแชร์ / ลูกแชร์ - บัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร เบอร์โทรติดต่อ

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ น่าสนใจ

ประเด็น : การเล่นแชร์ ไม่จำต้องเป็นมีหลักฐานเป็นหนังสือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 629/2486

   ตกลงเข้าหุ้นลงเงินเล่นแชร์เปียหวย แม้จำนวนเงินจะเกินกว่า 50 บาท ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพราะกรณีไม่ใช่เป็นการกู้ยืมกัน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019/2515

   การเล่นแชร์ เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ผู้เล่นมีสิทธิเลิกสัญญาได้

   สัญญาแชร์เลิกกันเพราะวงแชร์เลิกล้มเสียก่อนที่จะมีการประมูลครั้งต่อไป ผู้เล่นแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล มีสิทธิฟ้องผู้เล่นอื่นซึ่งประมูลไปแล้วให้คืนเงินนั้นได้

 

ประเด็น : อายุความฟ้องคดีแชร์ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552

   พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ประการ เช่น ตามมาตรา 6 (3) อีกทั้งมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืน มาตรา 6 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คเงินค่าแชร์มอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อวงแชร์ล้มในวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกัน โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

 

ประเด็น : ความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ลูกแชร์หากต้องการดำเนินคดี จะต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2926/2544

   เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่งจำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

   ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงเท่านั้นมิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่าสามวงดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิด เมื่อจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีจำเลยเป็นนายวงแชร์ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าสามวงจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6

   โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 มาตรา 4,6,17 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมคงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์

 

ประเด็น : กรณีฟ้องแพ่ง เมื่อแชร์ล้ม นายวงแชร์มีหน้าที่จะต้องรวบรวมเงินคืนให้แก่ลูกแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูให้ครบตามจำนวนที่มีสิทธิได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5265/2549

   ระหว่างเล่นแชร์กัน ลูกวงแชร์แต่ละคนต้องชำระเงินให้นายวงแชร์เพื่อรวบรวมไปให้ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้ เมื่อมีการเลิกสัญญาเล่นแชร์กันแล้ว ทั้งนายวงแชร์และลูกวงแชร์ซึ่งถือว่าเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยในฐานะนายวงแชร์จึงยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการคืนเงินที่ลูกแชร์ผู้ประมูลได้แล้วคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่ลูกวงแชร์คนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ประมูลจนกว่าลูกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูลจะได้รับเงินคืนครบตามจำนวนที่มีสิทธิได้ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับเงินคืนไม่ครบ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ด

 

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้ จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่

   ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้

   ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น

   การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

 

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

   ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตรา 1อนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง  140,000 บาท

มาตรา 348 ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา 343 เป็นความผิดอันยอมความได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมทนายความ

1. ดอกแชร์ ไม่อยู่ในบังคับแห่งคำว่า ดอกเบี้ย ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จึงสามารถจะให้ดอกแชร์สูงถึงเท่าใดก็ได้ สุดแท้แต่ความต้องการ

2. ปกติจำนวนผู้ร่วมเล่นวงแชร์ แต่ละวง จะมีอยู่ประมาณ 10 - 30 คน

3. ข้าราชการ และพนักงานในองค์กรของรัฐ สามารถเล่นแชร์ได้ ไม่ถือว่าความผิด

4. การเล่นแชร์ที่มีการประมูลกันจริง ไม่ถือเป็นความผิดตตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

 

ค่าบริการว่าความ คดีแชร์

รูปแบบคดี

ราคา (เริ่มต้น)

♦ ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี ไกล่เกลี่ย

-X-

 

โดนโกงแชร์ แชร์ออนไลน์ ฉ้อโกง ท้าวแชร์เชิดเงินหนี ลูกแชร์ไม่จ่ายเงิน รับฟ้องคดี และต่อสู้คดีในฐานะจำเลย

รับว่าความทั่วประเทศ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมาย

ติดต่อทนาย โทร 093 5971547

Line Id : nungningdaw

เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.30 - 20.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Trustmarkthai
 
 
#1 โดย: ทนายธนู [IP: 49.229.184.xxx]
เมื่อ: 2024-05-09 00:43:17
สงสัยประเด็นใด สามารถสอบถามได้ หรือต้องการแชร์เพื่อเป็นความรู้ ขอเชิญกันได้เลยครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 198,894